EDITORIAL / About The Dunk : เรื่องนี้เกี่ยวกับดังก์
กระแสที่มาแรงในปีนี้คงหนีไม่พ้นการกลับมาของ “Nike Dunk” รองเท้าบาสเกตบอลระดับตำนานจาก 1985 หนึ่งใน Icon ที่อยู่คู่กับวงการสตรีทแวร์มาอย่างยาวนาน ถึงแม้ช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมากระแสของรองเท้ารุ่นนี้จะเบาลงไปบ้าง แต่เราก็เชื่อว่าพวกรุ่นอดีตเคยแรงทั้งหลายยังคงอยู่ในตู้รองเท้าหลายๆ คน (ถ้าพื้นไม่ตายไปซะก่อนนะ) ซึ่งในปี 2020 ถือเป็นปีที่ Dunk อายุครบรอบ 35 ปี Nike ได้คืนชีพ Dunk ขึ้นมาอีกครั้ง และมันเริ่มชักจะไปกันใหญ่เมื่อเหล่าคนดังสตรีทไอคอนต่างหยิบ Dunk ในตำนานมาใส่กันเพียบ กลายเป็นกระแสที่ทำให้ราคาของ Dunk พุ่งเหมือนราคาทองแบบเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และกลายเป็นเรื่องที่ฮอตสุดในเวลานี้
Nike Dunk ถือกำเนิดขึ้นในยุคที่บาสเกตบอลกำลังรุ่งเรืองสุดขีด และรองเท้าบาสฯ ก้าวออกมานอกสนามสู่โลกสู่สตรีทแวร์มันคืออีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกของ Peter Moore อดีตนักออกแบบคนสำคัญของ Nike ได้สร้างเอาไว้ โดย Dunk สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากรองเท้าบาสฯ รุ่นพี่ในปี 1982 อย่าง “Nike Air Force 1” และเป็นพี่น้องกับ Air Jordan 1 และ Nike Terminator เราจะเห็นว่าเค้าโครงเส้นสายของ Air Force 1 อยู่ในรองเท้าทั้ง 3 รุ่น และทั้ง 3 รุ่นก็เหมือนเป็นการตีความรองเท้าบาสฯ ในยุคใหม่ แต่ละรุ่นปรับรูปทรงให้เน้นเพรียวบาง และมีพื้นรองเท้าแบบ Low Profile ซึ่งมี feel the ground (สัมผัสระหว่างเท้ากับพื้น) ที่ดี แต่ทั้ง 3 ก็มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกันเลย Air Jordan 1 จะให้หน้าเท้าที่แบนกระชับ มีพื้นบางสุด ส่วน Nike Terminatorจะมีหน้าเท้ากว้าง และปลายเท้าจะโค้งมน ใส่สบาย พื้นหนากว่า AJ1 แต่ยังสัมผัสถึงพื้นเวลาใส่ ลิ้นรองเท้ามีความหนานุ่ม มาพร้อมกับยางยืดให้ความกระชับ ถ้าเทียบกันใน 3 รุ่น Terminator น่าจะใส่สบายสุด แต่ถ้าจะเอาภาพลักษณ์ที่โดดเด่นก็ต้องAir Jordan 1 ส่วน Dunk จะอยู่กึ่งกลางของ 2 รุ่น ให้รูปทรงที่สมดุล มีการวาง Overlay ที่เรียบง่ายแบบ Air Force 1 แต่มีความเพรียวบางกว่า หน้าเท้ากว้างกำลังดี และไม่บีบจนเกินไป มาในพื้นรองเท้าสไตล์เดียวกับ Air Jordan 1 แต่ใส่แล้วรู้สึกหนากว่าเล็กน้อย Dunk ดั้งเดิมจะทำออกมาใน 2 แบบคือ Dunk High (หุ้มข้อ) และ Dunk Low (ข้อเท้าต่ำ) ผลิตในประเทศเกาหลีใต้
การตลาดของ Nike Dunk เน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่นอย่างชัดเจนโดย Nike ได้จับมือกับทีมบาสเกตบอลมหาวิทยาลัยชั้นนำปล่อยแคมเปญโฆษณา ‘Be True to Your School’ ออกแบบ Dunk ในคู่สีจากชุดทีมหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วย UNLV, Arizona, Iowa, Georgia, Syracuse, และ Kentucky (ส่วนอีกทีม Georgetown จะทำมาใน Nike Terminator) ผลลัพธ์ที่ได้คือมันฮิตในหมู่เด็กมหา’ ลัย และแฟนบาสฯ จากนั้นก็กระจายสู่แฟชั่นสปอร์ตแวร์ที่ฮิตในวงการ Hip-Hop กลางยุค 80’s ด้วยดีไซน์ที่ยืดหยุ่นเข้ากับอะไรก็ได้แบบนี้ทำให้ Nike Dunk แทรกเข้าไปอยู่ในทุก Culture คุณสามารถเห็นทีม Z-Boys ใส่เล่นสเก็ต เห็นนักกีฬาใส่เข้าฟิตเนส เห็น Dave Mustaine นักร้องนำวง Megadeath ใส่เล่นคอนเสิร์ต หรือ ฯลฯ
ความบังเอิญของ Nike Dunk คือแทนที่จะใส่จะอยู่ในสนามบาสฯ หรือใส่เดินตามถนน รองเท้ารุ่นนี้กลับเป็นที่นิยมในเหล่านักสเก็ตบอร์ดในยุค 80’ s นั่นก็เพราะดีไซน์พื้นรองเท้าที่ไม่หนามากทำให้เท้าสามารถสัมผัสกับบอร์ดได้ดีหรือมี Board’ s Feel ที่ดี ซึ่งมันดีพอๆ กับพวกพื้น Vulcanized ของ Vans Sk8-Hi หรือ Converse All-Star แต่พื้น Dunk รองรับแรงกระแทกได้ดีกว่าด้วยระบบ Nike Air ภายใน ส่วนปลายเท้าตรง Toe Cap ยังเย็บด้วยหนัง 2 ชิ้นซึ่งช่วยให้ทนทานกับกระดาษทรายบนบอร์ดได้มากกว่ารองเท้าผ้าใบทั่วไป
พอของหมดสต๊อก Dunk ก็ถูกแทนที่ด้วยรองเท้ากีฬารุ่นใหม่ๆ และหายไปจากท้องถนนจนเวลาผ่านไป 10 กว่าปี Nike ก็เริ่มนำกลับ Dunk มาปัดฝุ่นผลิตใหม่อีกครั้งในปี 1999 โดยนำรองเท้า Dunk กลับมาปรับปรุงใหม่ในชื่อ “Dunk High LE” เน้นวัสดุที่พรีเมียมขึ้น และย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศจีน ทำออกมาในหลาย Edition อย่างเช่นชุด Dunk High “Be True” สีดั้งเดิม , “NYC Edition” , “USA 2000 Edition” และนอกจากนี้ Nike ยังเอา Dunk Low มาใส่จิตวิญญาณของสเก็ตบอร์ดลงไปในชื่อ “Dunk Low Pro B” ออกแบบลิ้นรองเท้าแบบโฟมหนาหรือ puffy tongue เพิ่มยางยืดยึดลิ้นรองเท้ากับพื้นเพื่อเพิ่มความกระชับ มาพร้อมวัสดุหนัง และผ้าตาข่ายที่ทนทานขึ้น
การกลับมาของ Dunk สร้างกระแสตอบรับที่ดีมากโดยเฉพาะในญี่ปุ่น มันกลับมาเกิดใหม่พร้อมกับวัฒนธรรมการแต่งตัวที่เรียกว่า “สตรีทแวร์” มันกลายเป็นของสะสมที่มีกระแสความนิยม และมีราคาขายต่อที่สูง Nike ประเทศญี่ปุ่นจึงนำ Dunk มาออกแบบใหม่ในโปรเจคท์ “CO.JP” หรือ “Concept Japan” ซึ่งเป็นรองเท้าที่ผลิตเพื่อตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เน้นไปที่Dunk Low และมาในสีใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำออกมาในจำนวนจำกัดราว 2,001 ถึง 3,000 คู่ต่อรุ่น และวางจำหน่ายในร้านรองเท้าชั้นนำ แถมในปี 2001ทาง Nike CO.JP ยังปล่อยทีเด็ดเป็น “Dunk Low Pro B” สูตรเฉพาะของตัวเอง ใช้ลิ้นบางแต่เปลี่ยนวัสดุเป็นหนังกลับและเชือกรองเท้าแบบหนาตามสไตล์รองเท้าสเก็ตบอร์ดในยุคนั้น
ความสำเร็จของ Dunk ในปี 1999 – 2002 ทำให้เกิดยุคบูมของ Dunk ขึ้นมา และ “Nike SB” หรือ “Nike Skateboarding” สายการผลิตที่โฟกัสในรองเท้าสเก็ตบอร์โดยเฉพาะ เป็นหนึ่งในโปรเจคท์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการสนีกเกอร์ยุคนั้น จริงๆNike พยายามที่จะบุกตลาดรองเท้าสเก็ตบอร์ดมาตั้งแต่ต้นยุค 90’ s มีการออกแบบรองเท้าสเก็ตหลายๆ รุ่นถึงขึ้นเคยสร้างแบรนด์ในชื่อ “Savier Footwear” ซึ่ง Nike ไปเป็นพาร์ทเนอร์นำเทคโนโลยี Zoom Air เข้าไปใส่ มันเป็นเหมือนการทดลองตลาดก่อนที่จะลุยอย่างจริงจัง ซึ่งจากการลองแล้วลองอีก Nike SB ก็เจอว่าจริงๆ แล้ว Dunk นี่แหละที่ตลาดต้องการ พวกเขาจึงหยิบ Dunk Low Pro B มาพัฒนาต่อกับทีมงานที่อยู่ในวงการสเก็ตบอร์ด พร้อมสร้างทีมสเก็ตของตัวเองอย่างจริงจัง
ตัวดีไซน์ของ Dunk Low Pro SB ยุคแรกจะมีหน้าเท้าที่ก้าวกว่าปกติ ลิ้นรองเท้าหนาแต่ใช้ฟองน้ำที่นุ่มขึ้น ภายในเสริมด้วยพื้น Zoom Air ที่ส้นเท้าเพื่อรองรับแรงกระแทก โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2002 มาใน 3 สีที่ออกแบบโดยโปรสเก็ตกลุ่มแรกของ Nike SB ได้แก่” Safety Orange/Hyper Blue-White “เป็นสีซิกเนเจอร์ของ Danny Supa โปรสเก็ตลูกครึ่งไทย-อเมริกัน , “Obsidian/Light Graphite/Obsidian” เป็นสีซิกเนเจอร์ของ Gino Iannucci , “White/Orion Blue-White” เป็นสีซิกเนเจอร์ของ Richard Mulder และ “Wheat/Twig/Dune” สีซิกเนเจอร์ของ Reese Forbes
จากนั้น Nike Dunk SB ก็ปล่อยสีสันอื่นๆ ออกมาอีกเพียบ จุดกระแสความคลั่งไคล้แบบฉุดไม่อยู่ ซึ่งจุดเด่นของ Dunk SB คือการออกแบบคู่สีที่น่าใส่ และมักแฝงแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างเอาไว้ หรือไม่ก็ร่วมงานกับศิลปินและแบรนด์ต่างๆ แต่คู่ที่สร้างตำนานที่สุดคงต้องยกให้ “Pigeon New York” ปี 2005 หนึ่งใน “City Series” ที่ออกแบบโดย Jeff Staple คู่ที่เกิดจลาจลในวันจำหน่ายจนถึงกับขึ้นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ New York Post กันเลยทีเดียว ส่วนในไทยก็มีกระแส Dunk SB ฟีเวอร์เหมือนกัน ครั้งที่จดจำมากที่สุดก็คือในปี 2006 มีเหล่าสนีกเกอร์เฮดร้อยกว่าคนไปรอซื้อ Dunk Low SB รุ่นพิเศษที่ออกแบบร่วมกับ SBTG ศิลปินชาวสิงคโปร์ ซึ่งวางจำหน่ายที่ร้าน Preduce สยามสแควร์ นั่นก็เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์เช่นกันเหตุการณ์วันนั้นเรียกว่าคือจุดกำเนิดวงการสนีกเกอร์ไทยในวันนี้เลย
หลังยุค 2000 Nike ให้กำเนิด Dunk มากมายไม่ต่ำกว่า 200 สี เต็มไปด้วยไอเดียวการออกแบบที่หลากหลายทั้งสูตร Vintage พื้นเหลือแนวย้อนยุค แบบ Mid Top มีสายรัดข้อเท้า แบบ Deconstructed ไม่บุภายใน แบบ one piece ใช้หนังชิ้นเดียวยิงลายด้วยเลเซอร์ ฯลฯ โลกของ Dunk ยังคงหมุนต่อไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ฮิตบ้าง เงียบบ้าง แต่ทุกครั้งที่เราหยิบมาใส่มันยังคงให้ความ enjoy อยู่เสมอ ถ้าวันนี้ไม่รู้จะใส่อะไรจริงๆ ลอง Dunk สักคู่ก็ไม่ใช้อะไรที่เสียหายแน่นอน