EDITORIAL / THE SIGNATURE STORY OF AIR JORDAN 1
นานมาแล้วที่แฟนรองเท้าทั่วโลกยกย่องให้ “Air Jordan 1” รองเท้าบาสเกตบอลจากปี 1985 เป็นศาสดาแห่งวงการสนีกเกอร์แม้รุ่นนี้จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสตรีทแวร์มาหลายวัฏจักร ผลิตมาแล้วหลายยุคหลายสมัยแต่กาลเวลาก็ไม่สามารถทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาเสื่อคลายไปได้เลย มันสามารถอยู่ร่วมกันได้กับทุกสไตล์แฟชั่นตั้งแต่ฮิปฮอป พังก์ร็อก ไปจนเสื้อผ้าสุดหรูและไม่ว่า Nike/Jordan จะหยิบรุ่นนี้มาทำใหม่สักกี่ครั้งก็สร้างความเดือดร้อนให้กับพวกเราเสมอ ซื้อยากซื้อเย็นไม่ว่าจะสีต้นหรือสีใหม่ๆ ก็อย่างหวังจะได้มาง่ายๆ ยิ่งไปกว่านั้นเหล่าบรรพบุรุษ OG รุ่นเก่าที่ออกตอนปี 1985 ก็กลายเป็นของสุดหายากในปีนี้ โทรมแค่ไหนราคาก็ไหลกระฉูด จะมาบ่นไปก็เท่านั้นเพราะยังไงเราก็ทำทุกทางให้ได้มาอยู่ดี โดยเฉพาะในปี 2020 ที่ Air Jordan 1 เดินทางมาครบรอบปี 35 แล้วเรามาคุยกันถึงเรื่องราวความเป็นมาของรองเท้ารุ่นนี้กันดีกว่า
Air Jordan 1 วางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 15 กันยายน ปี 1985 ในราคา 65 ดอลล่าสหรัฐ แต่เรื่องราวของรองเท้ารุ่นนี้จริงๆเริ่มขึ้นในปี 1984 ปีเดียวกับที่ Apple เปิดตัวคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรก คุณ Sonny Vaccaro แมวมองของ Nike ได้พบกับ “ไมเคิล จอร์แดน” นักบาสเกตบอลจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาที่กำลังก้าวสู่การเล่นอาชีพใน NBA เขาคือดาวรุ่งที่ทุกคนจับตามอง จากนั้น Rob Strasser หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Nike จึงรับเสนอสัญญามูลค่ามหาศาลจอร์แดน มันเป็นเงินก้อนโตที่สุดเท่าที่ผู้เล่นหน้าใหม่เคยได้จากแบรนด์กีฬา และมากพอจะทำให้ไมเคิลเปลี่ยนใจจากแบรนด์ Adidas ที่เขาชอบมาร่วมงานกับค่าย Swoosh สัญญานี้มาพร้อมกับข้อตกลงในการออกแบบรองเท้าซิกเนเจอร์ของจอร์แดนซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนโฉมวงการสนีกเกอร์ไปตลอดกาล ( ไนกี้เสนอให้จอร์แดนปี $500,000 ต่อปีเป็นเวลา 5 ปีติด แต่ adidas และ Converse เสนอให้ที่ $100,000 ต่อปี )
“ซิกเนเจอร์ โมเดล” คือรองเท้ารุ่นที่แบรนด์ทำออกมาสำหรับนักกีฬาที่มีชื่อเสียง ซึ่งมันมักจะออกแบบตามความต้องการของตัวนักกีฬา (และ) หรือมีดีไซน์ที่สะท้อนตัวตนของนักกีฬาคนดังนั้นๆ มันคือการตลาดชั้นดีที่ทำให้แบรนด์ขายรองเท้าได้กระจุยเพราะนอกจากจะได้นักกีฬาดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์แล้วยังกวาดยอดขายจากรองเท้ารุ่นเหล่านี้อีกด้วย ซึ่งสำหรับนักบาสเกตบอลหน้าใหม่อย่างจอร์แดน การที่เขาเริ่มอาขีพปีแรกแล้วมีรองเท้าซิกเนเจอร์ของตัวเองออกมาเลย เรียกว่าเขย่าวงการมากๆ เพราะกว่าที่นักบาสฯ สักคนจะมีรองเท้ารุ่นของตัวเองต้องโชว์ฟอร์มที่สุดยอดติดต่อกันหลายฤดูกาลจนมีชื่อเสียง มีฐานแฟนๆ ที่เยอะพอจะซื้อรองเท้าของเขา แบรนด์กีฬาถึงจะเซ็นสัญญาออกรองเท้าด้วย การตัดสินใจครั้งนี้Nike คิดต่างไป พวกเขาต้องการเจาะตลาดวัยรุ่น และต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่สดใหม่ให้แบรนด์ แทนที่จะไปหานักกีฬาที่ดังอยู่พวกเขาเลือกที่จะทุ่มงบประมาณมหาศาลกับนักกีฬาหน้าใหม่ที่มาแรงที่สุด โดดเด่นที่สุด และสามารถเป็นที่หนึ่งได้ ซึ่งจอร์แดนคือคนคนนั้น เขาพาทีมบาสฯ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina Tar Heels) คว้าแชมป์ระดับชาติในปี1982 และกำลังจะเล่นอาชีพในลีก NBA ปีแรกกับ Chicago Bulls
ผู้ที่เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ดูแลการออกแบบรองเท้าของไมเคิล จอร์แดนก็คือ Peter Moore นักออกแบบที่อยู่เบื้องหลังโปสเตอร์โฆษณาดังๆ ของ Nike รวมถึงออกแบบสนีกเกอร์สุดคลาสสิกอย่าง “Nike Dunk” รูปลักษณ์ภายนอกของรุ่นได้ผสมผสานความหรูหราแบบสนีกเกอร์ฝั่งยุโรปที่จอร์แดนชื่นชอบเอาไว้ มันดูเรียบง่ายด้วย Panel ไม่กี่ชิ้นแต่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากรองเท้าบาสเกตบอลรุ่นก่อนๆ ตัว Upper ผลิตด้วยหนังระดับพรีเมียมที่ให้ความนุ่ม และยืดหยุ่นสูง สวมใส่สบาย บริเวณข้อเท้าถูกเสริมด้วยฟองน้ำที่ช่วยให้มีความกระชับ ลิ้นรองเท้าหุ้มด้วยผ้าไนลอนน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี
แน่นอนว่าเมื่อมีรองเท้าเจ๋งๆ แล้วก็ต้องมีชื่อเท่ๆ ทีแรกฝ่ายการตลาดของ Nike อยากใช้ชื่อของใช้ชื่อไมเคิล จอร์แดนเป็นชื่อรุ่นรองเท้าเลย แต่ David Falk เอเจนท์ของจอร์แดนอยากใช้ชื่อเฉพาะมากกว่าใช้ชื่อบุคคล เขาอยากสร้างความเป็นแบรนด์ที่ชัดเจน ชื่อแรกที่ถูกเสนอมาคือ “Prime Time” แต่ยังไม่โดน คุณ Falk คิดพักใหญ่จนไปสะดุดกับคำว่าคำว่า “Air” ที่ Nike ใช้ในโฆษณา เขาเลยเกิดนำมาใช้เป็นคำว่า “Air Jordan” ซึ่งคนไนกี้ต่างเห็นด้วยกับคำนี้เพราะมันฟังดูติดหู สามารถผสมผสานตัวตนทั้งของ Nike และจอร์แดนเข้าไว้ในชื่อเดียว
ส่วนตรา “Wings Logo” นั้นออกแบบโดย Peter Moore เอง ไอเดียนี้เกิดขึ้นตอนเดินขึ้นเครื่องบินหลังจากการประชุม เขาเหลือบไปเห็นเข็มกลัดบนหน้าอกของเด็กคนหนึ่ง มันเป็นตราแบบเดียวกับที่อยู่บนหมวกกปิตัน,กัปตัน เป็นของที่ระลึกที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมอบให้กับเด็กๆ คุณ Moore ชอบดีไซน์นี้มากถึงขั้นเดินไปขอตรานี้กับพนักงานหญิง แล้วก็ทำการออกแบบบนเครื่องบินทันที โดยเขาเปลี่ยนสัญลักษณ์ตรงกลางให้กลายเป็นลายลูกบาสเกตบอล และใส่คำว่า Air Jordan ลงไปด้านบน ทั้งหมดวาดถูกวาดลงบนลงบนกระดาษรองแก้วค็อกเทล และออกแบบเสร็จในเที่ยวบินนั้น
จริงๆ แล้ว Moore ทำงานกับ Nike มาตั้งแต่ปี 1976 ในฐานะฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซเนอร์ รับงานเป็นชิ้นๆ แต่ทุกชิ้นล้วนสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ไนกี้ จนในที่สุดเขาก็ได้แต่งตั้งให้เป็น Creative Director คนแรกแบรนด์ ซึ่งตรา “Wings Logo” นี้ก็เรียกว่าเป็นหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเขา มันดูลงตัว มันช่วยขยายความคำว่า Air Jordan ให้แข็งแรง สื่อถึงความเหนือชั้นของจอร์แดนที่ลงสนามแล้วเหมือนขึ้นเครื่องนำทีมบินไปสู่ชัยชนะ สัญลักษณ์ “Wing Logo” กลายมาเป็นโลโก้ของไมเคิลจอร์แดน ซึ่งนอกจากผลงานชิ้นนี้แล้ว ภายหลัง Moore ได้ย้ายไปทำงานกับ Adidas และเป็นผู้ออกแบบโลโก้ “3Bars” อันโด่งดังในปี 1997 อีกด้วย
ความใส่ใจในรายละเอียด และการออกแบบทำให้ Moore ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้รองเท้า Air Jordan รุ่นแรกออกมาทันเปิดฤดูกาล 1984-1985 ของ NBA แต่สุดท้ายก็ไม่ทัน ทางไนกี้จึงสั่งตัด Nike Air Ship รองเท้าบาสฯ ยุคนั้นให้จอร์แดนใส่ลงสนามไปก่อน โดยผลิตในสี “ดำ/แดง” แบบที่จะทำใน Air Jordan ซึ่งทันทีที่จอร์แดนใส่ลงสนามสีมันก็เป็นอะไรที่เตะตาทุกคนตามที่คุณ Moore ตั้งใจเอาไว้ แต่มันก็ไปเตะตาเจ้าหน้าที่ดูแลกฎของ NBA ด้วย สีแดงตัดดำอันโดดเด่นนี้ไปผิดระเบียบเครื่องแต่งกายของ NBA ซึ่งระบุว่า “รองเท้าที่นักกีฬาใส่จะต้องมีสีขาวเกิดกว่า 51% ของตัวรองเท้า” ซึ่งหากมีการละเมิดนักกีฬาจะถูกปรับ $5,000 ต่อเกม ซึ่งทาง NBA ก็ได้ออกจดหมายเตือนให้กับทางจอร์แดนออกมาจนกลายเป็นที่มาของตำนานการ“Banned” ขึ้นมา
Moore อยากทำรองเท้าบาสเกตบอลที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งในยุคนั้นรองเท้าบาสฯ ส่วนใหญ่มักเป็นสีขาว/ดำ แต่เขาเลือกที่จะหยิบสีดำ/แดง หรือมีชื่อเล่นที่แฟนรองเท้าเรียกกันว่า “Bred” (เกิดจากการออกเสียงคำว่า Black/Red ควบกันเป็นคำเดียว) ที่เข้ากับสีของยูนิฟอร์มทีม Chicago Bulls ต้นสังกัดของจอร์แดนมาออกแบบ มันให้ความรู้สึกดุดันสุดๆ แหวกแนวมากๆ แต่กลายเป็นว่าจอร์แดนไม่ถูกใจสิ่งนี้ เขาเรียกมันว่าสี “Davil’ s Color” แถมยังออกปากว่าไม่ชอบรองเท้าสีนี้ของตัวเองออกรายการ David Letterman อีกด้วย เรียกว่าทำเอาการตลาดไนกี้แทบขะเอารองเท้ามากมายหน้าผากกันเลย จอร์แดนอยากใส่อะไรเรียบๆ อย่างสีขาว-ฟ้าแบบ Converse Pro Leather หรือ Converse All Star College สีขาว/แดงที่ใส่ตอนเล่นระดับมหา’ ลัยมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม Peter Moore ก็พยายามอธิบายให้จอร์แดนเข้าใจว่าคู่สีนี้มันเป็นอะไรที่แหวกแนวและไม่เคยมีมาก่อน แต่ถ้าเขาไม่ชอบก็ยังมีสีอื่นให้ใส่
ก่อนจะไปต่อต้องทำความเข้าใจกันก่อน คือ NBA ไม่ได้ห้ามจอร์แดนใส่รองเท้า Air Jordan 1 แต่ห้ามใส่รองเท้าที่มีสี “ดำ/แดง” และตอนนั้นจอร์แดนใส่ Nike Air Ship ดำ/แดงยังไม่ได้ใส่ Air Jordan 1 ด้วยซ้ำ แต่ด้วยการตลาดสายเทาทำให้ Nike หยิบประเด็นนี้มาทำโฆษณาทีวีที่มี copy ว่า “On September 15, Nike created a revolutionary new basketball shoe. On October 18, the NBA threw them out of the game. Fortunately, the NBA can’ t stop you from wearing them.” สรุปสั้นๆ“NBA ห้ามไม่ให้ไมเคิล จอร์แดนใส่ Air Jordan ลงสนาม แต่ไม่สามารถห้ามพวกคุณให้ใส่รองเท้ารุ่นนี้ได้” มันเหมือนเป็นการสร้างศัตรูร่วมกัน ซึ่งถ้าคุณอยากอยู่ฝ่ายจอร์แดนก็ต้องตอบโต้ NBA ด้วยการไปซื้อรองเท้ารุ่นนี้มาใส่ซะ ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าไมเคิล จอร์แดนใส่ Air Jordan 1 Bred ลงสนามแค่ไม่กี่ครั้ง ที่ดังสุดก็คือในการแข่ง All-Star Dunk Contest ซึ่งไม่ใช่เกมอย่างเป็นทางการ NBA ไม่ปรับจอร์แดนแน่ๆ หรือเกมอื่นๆ จะมีการจ่ายค่าปรับหรือเปล่าก็ไม่มีใครยืนยันได้ แต่ที่แน่ๆ มันเป็นแผนการตลาดที่ประสบความสำเร็จมากๆ จากที่ Nike ตั้งยอดขายไว้ที่ 100,000 คู่ภายในปี 1985 แต่ปรากฏว่ากวาดยอดขายไปถึง 3 – 4 ล้านคู่ หรือราว 70 ล้านดอลล่าสหรัฐภายใน 2 เดือนแรก
งานนี้ถือเป็นโปรเจคท์ตัวท็อปของ Nike แน่นอนว่าเมื่อเป็นรองเท้าระดับ Flagship ของแบรนด์ก็ย่อมต้องมีรองรับแรงกระแทก“Nike Air” มาด้วย ซึ่งใช้ Air Bag แบบเต็มฝ่าเท้าแทรกภายในพื้นยางแบบ Cup Sole ซึ่งในยุคนั้นมันเป็นอะไรที่ล้ำสุดๆ แต่สิ่งที่เหล่าสาวก Air Jordan 1 ต่างรู้กันดีก็คือ Air Jordan 1 ไม่ใช่รองเท้าที่ใส่สบายแน่ๆ นั่นก็เพราะว่าไมเคิล จอร์แดนต้องพื้นรองเท้าที่บางพอจะให้เท้าสามารถสัมผัสได้ถึงพื้นสนาม และให้ความมั่นคงสูงในการหมุนข้อเท้า ทาง Peter Moore จึงออกแบบพื้นให้บางลง ตัดโฟมรองรับแรงกระแทกภายในออกให้เหลือน้อยที่สุด นอกจากนี้เขายังออกแบบ traction pattern ที่มีความหนึบ (ใส่เดินต้องมีเสียงเอี๊ยดอ๊าดแน่นอน) นี่คือความลับที่ทำให้จอร์แดนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างพลิ้วในสนาม
แค่พื้นรองเท้าแบบ Low-Profile ที่ช่วยให้จอร์แดนเคลื่อนที่ได้อย่างพลิ้วไหวก็บางเกินไปที่จะรองรับแรงกระแทกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ถึงมันไม่ใช่ต้นเหตุหลัง แต่ก็มีส่วนที่ทำให้เขาเกิดอาการบาดเจ็บที่เท้าจนไม่สามารถเล่นได้จบฤดูกาล หมอประเมินว่าจอร์แดนต้องพักยาวถึง 6 สัปดาห์ ไนกี้จึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้จอร์แดนกลับมาซ้อมได้ พวกเขาเลยทำการคัสตอม Air Jordan 1 สูตรพิเศษที่มีสายรัดข้อเท้าขึ้นมาแก้ขัดเพื่อให้จอร์แดนสามารถลงสนามได้ ซึ่งในระหว่างนั้น Peter Moore ก็แก้ปัญหาด้วยการนำเอาพื้นรองเท้าต้นแบบของ Air Jordan รุ่นที่ 2 มาใช้ โดยพื้นนี้จะมี Midsole เป็นโฟมpolyurethane หรือ PU ซึ่งมีน้ำหนักเบา และนุ่มขึ้น ภายในแทรกเทคโนโลยี Nike Air ที่รองรับแรงกระแทกได้มาก ซึ่งในส่วนของ Upper ยังคงดีไซน์เดิมของ Air Jordan 1 สี Chicago เอาไว้ มันจึงถูกเรียกว่า “Air Jordan 1.5” ซึ่งตอนนั้นไม่ได้ทำขายทั่วไป
เดิมที Nike ตั้งใจขะวางจำหน่าย Air Jordan 1 ใน 2 สีคือ “White/Black-Red” ที่ใช้ปลายเท้าสีดำหรือ ที่เรียกว่า “Black Toe” สำหรับใส่ในเกมส์เหย้า และสี “Black/Red” หรือ “Banned” หรือ “Bred” สำหรับใส่ในเกมเยือน แต่สี “Black Toe” ถูก Drop ไปก่อนแล้วโยกเอาสี White/Black-Red ที่ใช้ปลายเท้าสีแดงหรือที่รู้จักในชื่อสี “Chicago” มาแทน และยังเพิ่มสีทางเลือกต่างๆอีกมากมายได้แก่ “Black/Royal Blue” หรือ “Royal” “Black Toe” , “Black/White” , White/Dark Power Blue (UNC) , “Black/Grey” หรือ “Shadow” และ White/Blue ซึ่งนอกจากนี้ยังปล่อยเวอร์ชันไม่หุ้มข้อ Air Jordan 1 Low มาอีก 2 สี ส่วนในปี 1986 Nike ได้เจาะตลาดสตรีทแฟชั่นมากขึ้นด้วย Air Jordan 1 High “Metalic Pack” แถมยังออกเวอร์ชันวัสดุผ้าใบ“AJKO” (Air Jordan Knock Out) ที่มีราคาย่อมเยาลงมา
เรื่องราวของ Air Jordan 1 ในช่วง 80’ s ยังไม่หมดแค่รองเท้ารุ่นนี้จึงอยู่คู่ Pop-Culture และได้รับความนิยมอยากมากจนถึงปัจจุบัน
1985-1986 Air Jordan 1 Original Line-Up
Nike Air Jordan 1 Black/Red “Bred”/“Banned” 1985
Nike Air Jordan 1 White/Black/Red “Black Toe” 1985
Nike Air Jordan 1 Red/White/Black “Chicago” 1985
Nike Air Jordan 1 White/Black 1985
Nike Air Jordan 1 Black/Gray “Shadow” 1985
Nike Air Jordan 1 Black/Royal Blue “Royal” 1985
Nike Air Jordan 1 White/Dark Powder Blue “UNC” 1985
Nike Air Jordan 1 White/Natural Gray 1985
Nike Air Jordan 1 White/Blue 1985
Nike Air Jordan 1 White/Metallic Orange 1986
Nike Air Jordan 1 White/Metallic Dark Red 1986
Nike Air Jordan 1 White/Metallic Purple 1986
Nike Air Jordan 1 White/Metallic Green 1986
Nike Air Jordan 1 White/Metallic Blue 1986
Nike Air Jordan 1 KO Black/Red 1986
Nike Air Jordan 1 KO White/Red/Black 1986
Nike Air Jordan 1 KO White/Red 1986
Nike Air Jordan 1 KO White/Grey 1986
Nike Air Jordan 1 White/Metallic Blue Low
Nike Air Jordan 1 White/Natural Gray Low
Via. Last Dance, Netflix // solecollector.com // highsnobiety.com