EDITORIAL / Go Back To 90’s With Air Max III : ย้อนเวลาหา Air Max III สนีกเกอร์ต้นตำรับที่กลับมาอีกครั้งในรอบ 30 ปี
Update at 20 October 2020
ต้องยอมรับว่าความเจ๋งอย่างหนึ่งของ Nike คือพวกเขาสามารถเปลี่ยนรองเท้าเดิมให้เป็นรุ่นใหม่ได้ด้วยการเปลี่ยนชื่อ และทำทุกอย่างให้กลับเป็นเหมือนรุ่นต้นตำรับให้มากที่สุด เรากำลังพูดถึงการกลับมาของ “Air Max III” หรือ “Air Max 90” ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ซึ่งที่เราต้องยกรุ่นนี้มาคุยกันเพราะในปี 2020 รองเท้ารุ่นนี้จะครบรอบ 30 ปีและ Nike ก็ได้นำรองเท้าโฉมดั้งเดิมปี 1990 กลับมาทำใหม่อีกครั้งในชื่อ “Air Max III” มันมีอะไรดีเรามาว่ากัน
Air Max III (ไนกี้ แอร์ แม๊กซ์ 3) เป็นผลงานการออกแบบของ Tinker Hatfield (ทิงเกอร์ แฮตฟิลด์) นักออกแบบระดับตำนานผู้เป็นบิดาแห่งรองเท้า Air Max วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1990 โดยผู้คนเรียกกันติดปากว่า Air Max III จากการเป็นรองเท้า Air Max รุ่นที่ 3 ที่ผลิตออกมา ซึ่งต่อมาได้รับการนำกลับมาผลิตใหม่ครั้งแรกในปี 2002/2003 ภายใต้ชื่อ “Air Max 90” หากเราไล่ลำดับพี่น้องตระกูล Air Max จะพบว่าพี่ใหญ่ของเราก็คือ “Air Max 1″ ปี 1987 ต่อมาเป็นพี่รองคือ “Air Max Light” (นับเป็น Air Max II) ปี 1989 และน้องสาม “Air Max III” หรือ Air Max 90 นั่นเอง ดีไซน์ของ Air Max III ยังยืนอยู่ในความเป็นรองเท้าวิ่งแบบ High Performance เน้นสมรรถนะการวิ่งที่ดีเป็นหลัก แต่ก็มาในดีไซน์ที่สวยงาม
มันเป็นการ Full Model Change ที่ต่างไปจาก Air Max 1 แทบทุกอย่าง ทิงเกอร์แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากดีไซน์ของรถสปอร์ตอิตาเลี่ยน โดยสำเนียงการออกแบบของ AM III โดดเด่นด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ไม่สมมาตรกัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าเท้า Toe Box รูร้อยเชือก ป้ายโลโก้ด้านข้าง และป้ายทรงรูปหัวใจด้านหลัง มันให้มุมมองที่ดูแข็งแรง และมั่นคงขึ้น แต่รูปทรงนี้ก็ถูกตัดด้วยความโค้งมน แทบทุกอย่างใน AM III เข้ามุมเป็นเส้นโค้งทำให้ยังคงมีความพลิ้วไหวที่เข้ากับตรา Swoosh ด้านข้าง เทคโนโลยีในรุ่นนี้ถูกอัพเกรดไปอีกขั้นจาก Air Max รุ่นก่อน มาในพื้นกลางที่ใช้โฟม Phylon midsoles ร่วมกับ Air Max ขนาดใหญ่ที่ถูกครอบด้วยกรอบยางด้านนอกช่วยให้รองเท้ามีความมั่นคงมากขึ้น และยังเป็นดีไซน์อันโดดเด่นประจำตัวของรุ่นนี้ ด้านบนตัว Upper ประกอบด้วย 3 ชิ้นส่วนหลักที่ใช้วัสดุต่างกันได้แก่ หน้าเท้าใช้เป็นผ้าตาข่าย Duromesh แบบใหม่ , Overley ใช้เป็นหนังกลับสังเคราะห์น้ำหนักเบา และ Mudguard ใช้เป็นวัสดุหนัง นอกจากนี้ยังเพิ่มวัสดุพลาสติกโพลียูรีเทนที่ให้สัมผัสความแข็งบนตัวรองเท้า ส่วน lining ภายในบุด้วยผ้า French terry ที่ให้ความนุ่มกระชับ งานผลิตทั้งหมดทำในประเทศเกาหลี บรรจุในกล่องส้ม/เทาตามยุค
Air Max III เปิดตัวใน 2 สีแรกได้แก่ “Hyvent Orange” และ “Laser Blue” โดยเป็นสีเทา/ขาว/ดำแนวเดียวกันแต่เปลี่ยนจะแตกต่างกันที่ดีเทลสีแดง และสีฟ้า ซึ่งทั้ง 2 สีทำหน้าที่ต่างกันนิดหน่อย สีฟ้าทำให้รองเท้าดูสงบลงแต่ยังคงความน่าสนใจ ส่วนสีแดงอมส้ม “Hyvent Orange” นั้นจะดูเอะอะกว่า ทำให้ทุกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ในรุ่นนี้สะดุดตาจึ้นมา ทั้ง 2 สีต่างเป็นไอคอนของยุคที่อยู่คู่กับนักวิ่ง และในแฟชั่นตามท้องถนน จริงๆ สีแดง Hyvent Orange นั้นจะมีชื่อเล่นว่า ‘Radiant Red’ แต่อีก 12 ปีต่อมารองเท้ารุ่นนี้นำกลับมาทำใหม่ มีการเปลี่ยนสีแดงเป็น “Max Orange” ที่เข้มขึ้นจึงเกิดชื่อเล่นใหม่ว่า ‘Inferrared’ จากนั้นก็เรียกต่อกันมาจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งจากความสำเร็จในปี 2002 ก็ทำให้ Air Max 90 กลับมาทำอีกครั้งในปี 2005 Nike กับคอลเลคชั่นชื่อว่า “History of Air” ซึ่งเป็นการเปิดตัว Air Max 90 อย่างเป็นทางการอีกครั้งในตลาดสหรัฐอเมริกา และตั้งแต่นั้นมารองเท้ารุ่นนี้ก็ได้รับการวิวัฒนาการไปตามยุคตามสมัยอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นสีสันใหม่ๆ ที่มีไม่ต่ำกว่า 100 สี หรือการดัดแปลงเวอร์ชันต่างๆ ตั้งแต่ Air Max 90 Premium Ostrich (2008) ที่ใช้หนังนกกระจอกเทศสุดหรู , Air Max 90 ‘Inferrared’ แบบ OG ที่ทำออกมากี่ทีก็หมด (2008/2010) , Air Max 90 Current (2008) นำเทคโนโลยีรองเท้าวิ่งขนาดนั้นอย่าง Nike free มาถ่ายทอดลงไป, Air Max 90 Hyperfuse อัพเกรดด้วยวัสดุหน้าผ้าชิ้นเดียวทั้งคู่ (2012) , Air Max 90 Vintage (2013) โฉมย้อนยุคที่ให้ลุคแบบรองเท้าเก่าเก็บ ฯลฯ ตลอด 10 กว่าปีหลังนี้เรียกว่าชีวิตชาวสนีกเกอร์เอดไม่เคยขาดรองเท้ารุ่นนี้เลย
ความนิยมของรุ่นนี้กระจายไปทุกที่โดยเฉพาะในยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น กลายเป็นของสะสมที่อยู่ในตู้โชว์ Air Max 90 เป็นคลื่นลูกแรกของกระแสสนีกเกอร์ในวัฒนธรรมสตรีทแวร์ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดร้านรองเท้าอิสระมากมาย แพร่หลายใน Subculture ต่างๆ ทั้งคลับใต้ดิน กลุ่มดีเจ นักออกแบบ ศิลปิน ใส่กันตั้งแต่บุคคลระดับประธานาธิบดีไปจนถึงนักธุรกิจ เป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกความมั่งมีของพ่อค้ายา นักเลง ไปจนถึงแร็ปเปอร์ Air Max 90 รับใช้คนทุกสีผิว และทุกชนชั้น รวมไปถึงทุกสไตล์การแต่งตัว มันถูกยกย่องว่าเป็นรองเท้าที่ใส่ง่าย ได้ทุกแนว ใส่กับกางเกงยีนส์ก็สวย ในกับกางเกงวอมก็เวิร์ก คุณแค่เลือกสีที่คุณต้องการ รักษามันให้ใหม่อยู่เสมอ แค่นั้นก็จบ ขึ้นชื่อเรื่องความทนทาน แต่ถ้าเก็บใส่กล่องอย่างเดียว 5 ปีกลายเป็นผงแน่ๆ เพราะฉะนั้นทางเดียวที่คุณจะเก็บรองเท้ารุ่นนี้ให้นานที่สุดคือใส่บ่อยๆ
หลังจาก Nike ประสบความสำเร็จกับ Air Max 90 และมีเวอร์ชันต่างๆ มามากมาย Nike ก็เกิดไอเดียใหม่ในวาระ 30 ปีของรุ่นนี้ด้วยการ นำตัวรองเท้า Air Max III ในโฉมแรกกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อ “Air Max III” ข้างกล่องอย่างเป็นทางการ จุดที่แตกต่างหลักๆ ของ Air Max III คือการเอา Air Max ของเก่าจากปี 1990 มาแกะแพทเทิร์นให้ใกล้เคียงของเดิม มองด้วยตาอาจไม่ต่างกันมากแต่ถ้าจับแล้วคุณจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง โดยเฉพาะวัสดุที่เลือกใช้แบบเดียวกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นวัสดุจะไม่ได้หรูหราแบบ AM 90 ยุคใหม่ แต่มันจะให้สัมผัสของรองเท้ากีฬารุ่นเก่าที่หาไม่ได้ทั่วไปตามท้องตลาด แม้แต่ขนาดของด้านที่เย็บ ความหนาของโฟมที่บุภายใน ป้ายลิ้นรองเท้า การพิมพ์ไซซ์ที่ด้านใน หรือแม้แต่รอยตะเข็บด้านข้าง ทุกอย่างแกะมาจากต้นแบบทั้งหมด นอกจากนี้ยังมาในกล่องรองเท้าฝาส้มลายเทาตรงรุ่น มีพวงกุญแจยางใส และแผ่นเสริมอุ้งเท้ามาให้เหมือนในอดีต โดยคู่สีของ Air Max III ก็จะมาแบบ OG ต้นฉบับแบบตรงเป๊ะ เปิดตัวสีแรกด้วย “Laser Blue” สำหรับผู้ชาย และ “Laser Pink” กับ “Eggplant” ของผู้หญิง แน่นอนว่ามันมาในการผลิตที่ไม่เยอะ และวางจำหน่ายเฉพาะในสนีกเกอร์สโตว์ชั้นนำ ใครที่ชื่นชอบรองเท้าวิ่งสายคลาสสิกบอกเลยว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ส่วนใครรอสี Air Max III ‘Inferrared’ อยู่ละก็กำเงินรอให้ดีงานนี้มีเสียเงินกันแน่ๆ